ไก่ดำภูพาน

ไก่ดำภูพาน เป็นสายพันธุ์หนึ่งของไก่ดำ ปรับปรุงพันธุ์จากไก่ดำจากประเทศจีน 
วันก่อนมีโอกาสเดินทางไป ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร เยี่ยมชมโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ  รุ่นที่ 2 ครั้ง ที่ 3 ร่วมเรียนรู้พระราชกรณียกิจและพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรูปแบบการถ่ายทอดความรู้เชิงประจักษ์ สัมผัสเกษตรกร 5 บ้าน 5 วิถีชีวิตเยาวชนที่ร่วมกิจกรรมจะได้สัมผัสกับ รูปแบบเกษตรกรรม โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน และวิทยากรจากศูนย์พัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ความรู้และร่วมกิจกรรม จัดโดยสำนักงาน กปร. ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ไก่ดำภูพาน
และกว่า 40 ชั่วโมงที่เยาวชนได้มีโอกาสอยู่กินและใช้ชีวิตกับเกษตรกรขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ซึ่งเยาวชนต่างให้ความสนใจกับการดำเนินชีวิตของเกษตรกรเหล่านั้นเป็นอย่างมาก ต่างสอบถามเพื่อเรียนรู้โดยที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำไปใช้เองที่บ้านของตน อย่างกรณีของการเพาะเลี้ยงไก่ดำภูพานดูจะได้รับความสนใจจากเยาวชนเหล่านี้เป็นอย่างมาก ซึ่งก็มีเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือ กำลังเป็นสินค้ายอดนิยมที่ทำราคาและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่นำมาเลี้ยง จนบางรายเริ่มพัฒนาเป็นการเพาะเลี้ยงเชิงธุรกิจ โดยการจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ที่มีราคาคู่ละกว่า  3,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของไก่ทั้งคู่

ไก่ดำภูพาน
เกษตรกรรายหนึ่งได้กรุณาถ่ายทอดประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงให้กับเยาวชนฟังถึงกรรมวิธีทำให้ไก่ดำภูพานเจริญเติบโต แข็งแรง มีกำลังและเลี้ยงตัวรอดพร้อมทั้งสามารถเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดีให้ลูกดกได้ ซึ่งกรรมวิธีนี้เป็นการนำไก่ดำที่ผ่านการพัฒนาสายพันธุ์มาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มาเลี้ยงแบบผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเลี้ยงไก่โดยใช้ไก่บ้านสายพันธุ์ไทยเข้ามาเป็นตัวช่วย

เกษตรกรรายนี้เล่าว่า หากต้องการไก่ดำเพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์และเพื่อจำหน่ายให้ได้ราคาและไก่มีน้ำหนักดี ต้านทานโรคและป้องกันตัวเองเก่ง ก็ให้แม่ไก่สายพันธุ์พื้นเมืองเป็นผู้เลี้ยงลูกไก่ตั้งแต่เริ่มออกจากไข่  ถึงตรงนี้เยาวชนบางรายอดสงสัยไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรในทางปฏิบัติเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการเช่นนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า เมื่อถึงช่วงที่แม่ไก่ ซึ่งเป็นแม่ไก่ของทั้งไก่ดำภูพานและแม่ไก่สายพันธุ์ุพื้นเมืองหรือที่รู้จักกันในนามของไก่บ้าน ขณะที่วางไข่ ให้คอยสังเกตเมื่อแม่ไก่ออกไข่แล้วซึ่งจะบินออกจากรัง ให้เอาไข่มาสลับรังกัน ทำอย่างนี้ทุกวันในระหว่างที่แม่ไก่ทั้งสองออกไข่ จนเมื่อแม่ไก่ทั้งสองเลิกออกไข่และทำการฟักไข่ ช่วงนั้นก็ให้เอาไข่ของแม่ไก่สายพันธุ์พื้นบ้านที่อยู่ในรังของแม่ไก่ดำภูพานออกมาทั้งหมด นำไปบริโภคถ้ามากก็ขายทำเงินเข้าครอบครัว เมื่อแม่ไก่ดำไม่มีไข่ในรังก็จะออกไปรวมฝูงกับตัวผู้เกิดการผสมพันธุ์ ซึ่งไม่นานก็จะกลับเข้ามาวางไข่อีก ขณะที่แม่ไก่พันธุ์พื้นเมืองก็ทำหน้าที่ฟักไข่จนออกมาเป็นตัว ซึ่งก็คือลูกไก่ดำภูพานทั้งหมด

โดยพื้นฐานแม่ไก่พื้นบ้านจะเลี้ยงลูกไก่เหล่านั้นเป็นอย่างดี และจากความสามารถพิเศษของแม่ไก่พื้นบ้าน อาทิ การเฝ้าดูแลลูกไก่ไม่ให้ไก่ตัวอื่น หรือสัตว์อื่นทำร้ายจะเก่ง เพราะแม่ไก่พันธุ์พื้นบ้านช่วงนี้จะดุ แถมคุ้ยเขี่ยหาอาหารให้ลูกเก่งและออกไปไกลจากบริเวณที่เลี้ยง เหล่านี้ก็จะทำให้ลูกไก่ดำมีความแข็งแรง เพราะมีกินมาก วิ่งตามแม่ไก่ไปไกล ๆ ได้ออกกำลังทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ที่สำคัญในการเฝ้าระวังภัยจากสัตว์ที่ชอบกินลูกไก่หรือทำร้ายลูกไก่ จะไม่ค่อยมีโอกาสเกิดขึ้นเพราะแม่ไก่พันธุ์พื้นบ้านมีความสามารถสูงในการเตือนภัยและหาที่หลบซ่อน  เหล่านี้จึงทำให้ไก่ดำที่ออกมามีคุณภาพและอัตราการรอดสูง แถมกล้ามเนื้อแข็งแรงตรงตามความต้องการของตลาด  เยาวชนที่รับทราบข้อมูลเหล่านี้หลายรายบอกว่ากลับไปบ้านจะเอาไก่ดำภูพานมาเลี้ยงแบบผสมผสานกับไก่พื้นพื้นบ้านดังที่เกษตรกรรายนี้ถ่ายถอดประสบการณ์ให้ฟัง

ไก่ดำภูพาน เป็นสายพันธุ์หนึ่งของไก่ดำ ปรับปรุงพันธุ์จากไก่ดำจากประเทศจีน และจดสิทธิบัตรที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์กับกรมปศุสัตว์ โดย นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร ไก่ดำภูพาน เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความต้องการในตลาดประเทศจีนที่มีความเชื่อในสรรพคุณทางยาของไก่ดำ ซึ่งมีองค์ประกอบ ขนดำ หนังดำ เล็บดำ เนื้อเทาดำ และกระดูกก็สีเทาดำ.


ที่่มา..ข้อมูล/ภาพ เดลินิวส์